วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาสถานศึกษา หมายถึง แผนที่จัดทำอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของข้อมูลของสถานศึกษา ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนครอบคลุมการพัฒนาทุกกิจกรรมที่เป็นส่วนประกอบหลักของการจัดการศึกษาของสถานศึกษา....
และเป็นที่ยอมรับร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติให้บรรลุผล ตามเป้าหมายของกิจกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ ความสำคัญของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 ซึ่งออกตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 6 มาตรา 47 ที่กำหนดให้สถานศึกษาต้องมีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการศึกษาด้วยกระบวนการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วย 8 ภารกิจหลัก ได้แก่
1. การจัดระบบการบริหารและสารสนเทศ
2. การพัฒนามาตราฐานการศึกษา
3. การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
4. การดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา
5. การตรวจสอบและและทบทวนคุณภาพการศึกษา
6. การประเมินคุณภาพการศึกษา
7. การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี
8. การผดุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา

เพื่อให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและความต้องการของชุมชน ในกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้สถานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาโดยคำนึงถึงหลักและครอบคลุมในเรื่องต่อไปนี้
1. เป็นแผนที่ใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์สภาพ ปัญหา และความจำเป็นอย่างเป็นระบบและมี แผนการปฏิบัติการประจำปีรองรับ
2. กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และสภาพความสำเร็จของการพัฒนาไว้อย่างต่อเนื่อง ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
3. กำหนดวิธีการดำเนินงานที่มีหลักวิชาการ หรือผลการวิจัย หรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ อ้างอิงได้ ให้ครอบคลุมการพัฒนาด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ กี่ส่งเสริมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การพัฒนาบุคลากร และการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้
4. กำหนดบทบาทหน้าที่ให้บุคลากรของสถานศึกษาทุกคนรวมทั้งผู้เรียนรับผิดชอบ และ ดำเนินงานตามที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. กำหนดแหล่งวิทยาการภายนอกที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการ
6. กำหนดบทบาทหน้าที่ให้บิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคลากรในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
7. กำหนดการใช้งบประมาณและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

@ วัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาสถานศึกษา
1. เพื่อให้เป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
2. เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาได้รับรู้ทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
3. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และการร่วมคิดร่วมทำระหว่างสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา
4. เพื่อเป็นหลักประกันในการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา

@ ขั้นตอนในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
1. เตรียมการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา
    - จัดตั้งคณะทำแผน
    - ทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่
    - ประสานความร่วมมือ
    - วางแผนการทำงาน
2. ประเมินความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษา
    - ทำความเข้าใจวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของสถานศึกษา
    - จัดทำภาพรวมของสถานศึกษา
    - สำรวจความต้องการด้านการศึกษาของผู้เรียน
    - วิเคราะห์ข้อมูลความต้องการด้านการศึกษาของผู้เรียน และกำหนดประเด็นสำคัญของการพัฒนา
3. วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และพิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไข
    - ทบทวนประเด็นสำคัญ
    - ตัดสินใจเลือกประเด็นที่จะดำเนินการ
    - เขียนเป้าหมายการพัฒนา
    - เขียนยุทธศาสตร์ในการพัฒนา
4. กำหนดแผนปฏิบัติการรายปี
    - กำหนดแผนปฏิบัติการรายปี
    - ตรวจสอบความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการรายปี
5. เขียนแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาของสถานศึกษา
    - แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการเขียน ตามความถนัดหรือตามอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย
    - ตรวจสอบความถูกต้องและความสอดคล้อง
    - จัดพิมพ์
6. ปฏิบัติตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

@ ส่วนประกอบของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาสถานศึกษา1. ปก
2. คำนำ 
3. สารบัญ
4. ภาพรวมของสถานศึกษา ประกอบด้วย
   4.1 ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ประกอบด้วย
   - ประวัติสถานศึกษา จำนวนนักเรียน ครูและบุคลากร อาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค โครงสร้างการบริหาร หลักสูตรและการใช้หลักสูตร ฯลฯ
   - ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน สถานที่ตั้ง สถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ ความร่วมมือของชุมชน เป็นต้น
   4.2 การดำเนินงานของสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงความสำเร็จที่โดดเด่นที่สถานศึกษาภาคภูมิใจ  ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับประเทศ และระดับอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ควรนำเสนอผลการดำเนินงานเกี่ยวกับ หลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดองค์การ การบริหารจัดการ การพัฒนาวิชาชีพครู สิ่งแวดล้อมของสถานศึกษา การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน
   4.3 สรุปสถานภาพปัจจุบันของสถานศึกษา และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ชี้ให้เห็นสภาพจุดเด่นของสถานศึกษา สภาพปัญหาอุปสรรคและจุดด้อยของสถานศึกษา สิ่งที่ท้าทายความสามารถของสถานศึกษาและประเด็นสำคัญที่สถานศึกษากำหนดเพื่อการพัฒนาในระยะต่างๆ

แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ไม่ได้กำหนดตายตัวว่า รอบระยะเวลาของแผนจะครอบคลุมกี่ปี ทั้งนี้ให้อยู่กับดุลพินิจของสถานศึกษาที่จะกำหนดรอบระยะเวลาได้ตามความเหมาะสมและวิธีปฏิบัติของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งอาจกำหนดระยะ 3-5 ปี ก็ได้
5. เจตนารมณ์ของสถานศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจในปณิธานที่สถานศึกษาและชุมชนยึดมั่นและหล่อมหลอมเป็นแนวปฏิบัติของสถานศึกษาที่มุ่งสู่คุณภาพของผู้เรียน บางครั้งอาจเขียนอยู่ในลักษณะปรัชญา อุดมการณ์ คำขวัญ คติพจน์ ของสถานศึกษาก็เป็นได้
6. ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ขั้นตอนนี้เริ่มเข้าสู่การวางแผนการพัฒนาเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ฉะนั้นจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ต้องใช้เวลาในการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา ในขั้นนี้จะพบว่าในการดำเนินงานมิใช่จะราบรื่นเนื่องจากข้อมูลอาจมีปัญหา เช่น ข้อมูลที่ไม่มีความสมบูรณ์ ข้อมูลไม่ตรงกัน ขัดแย้งกัน หรือไม่ชัดเจน ฉะนั้นจะต้องมีการอภิปรายนัยของข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง การใช้คณะผู้ทบทวนมากกว่า 1 คณะ มาตรวจสอบข้อมูลจะมั่นใจในความถูกต้อง ในการ วิเคราะห์ข้อมูลจะต้องอภิปรายและร่วมตัดสินใจ ทั้งนี้อาจใช้เทคนิคในการวิเคราะห์สถานศึกษาเข้ามาช่วย เช่น การสำรวจความคิดเห็น เทคนิคการรวมพลังสร้างสรรค์องค์กร ( Appreciation Influence Control : AIC) เทคนิคการวิเคราะห์ศักยภาพองค์กร (Strength Weakness  Opportunity Threats : SWOT) หรืออาจเป็นเทคนิคอื่นๆ ที่เอื้อต่อการให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด หลังจากนั้นก็นำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ ( Vision ) การกำหนดพันธกิจ (Mission) การกำหนดเป้าหมาย (Goal) การกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategice) และจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา (School priorities)

   6.1 การกำหนดวิสัยทัศน์ เป็นการคาดหวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสอดคล้อกับ สภาพการที่สนองเจตนารมณ์ของสถานศึกษาและความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน
   6.2 การกำหนดพันธกิจ เป็นบทบาทหลักและพันธะที่สถานศึกษาต้องดำเนินการเพื่อพัฒนาให้ถึงวิสัยทัศน์
   6.3 การกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้พันธกิจที่กำหนดเป็นไปได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น สถานศึกษาต้องกำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุมพันธกิจที่สถานศึกษาต้องดำเนินการในระดับนี้เป็นผลลัพธ์ปลายทางที่สถานศึกษาคาดหวังจะบรรลุภายในช่วงเวลาที่กำหนด ลักษณะการเขียนยังเป็นผลลัพธ์กว้างๆ
   6.4 การกำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยนำเป้าหมายของสถานศึกษามาจัดอันดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการในการพัฒนาเพื่อนำมากำหนดจุดเน้นการพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษา
   6.5 การกำหนดยุทธศาสตร์ เป็นแนวทางหรือวิธีการต่างๆ ที่จะนำสถานศึกษาไปสู่การบรรลุผลตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กำหนด
   6.6 การกำหนดสภาพความสำเร็จ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์จะประสบผลสำเร็จผู้รับผิดชอบแลผู้เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจถึงความสำเร็จของงาน
7. แผนปฏิบัติการประจำปี หรือแผนย่อยของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสถานศึกษาเพื่อลงสู่การปฏิบัติหรือแผนปฏิบัติงาน ( Action plan ) ที่ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่จะดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมาย ยุทธศาสตร์หรือวิธีการดำเนินงาน ขั้นตอนการปฏิบัติ กรอบเวลา ผู้รับผิดชอบและงบประมาณ รูปแบบการเขียนนิยมใช้ตารางซึ่งจะช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงตั้งแต่เป้าหมายยุทธศาสตร์ จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผู้รับผิดชอบ กรอบเวลา และงบประมาณ
8. การระดมทรัพยากร แหล่งสนับสนุนงบประมาณ และสรุปงบประมาณในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะบอกจำนวนงบประมาณที่จะใช้ในรอบปีการศึกษาและแหล่งที่สถานศึกษาจะสามารถระดมทรัพยากร และการสนับสนุนด้านงบประมาณได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น